หลังจากอังกฤษ หรือสหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (EU) ก็เกิดผลกระทบอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง แม้กระทั่งวงการภาพยนตร์อย่าง Hollywood ก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งทางเว็บไซต์ The Hollywood Reporter ก็ได้เรียบเรียงผลกระทบจากที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปมา 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. เงินปอนด์อ่อนค่าดีต่อทีมโปรดักชั่น แต่แย่ต่อบ็อกซ์ออฟฟิศ
หลังจากไม่กี่ชั่วโมงที่มีประชามติออกมาว่าสหราชอาณาจักรโหวตให้ออกจากอียู ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษก็ตกลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 10 เปอร์เซนต์ มาอยู่ที่ประมาณ 1.35 เหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 31 ปี และการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของค่าเงินนี้แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อตลาดโลก แต่กับวงการฮอลลีวูดนั่นก็ได้รับผลกระทบทั้งดีและร้าย
อย่างแรกค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงถือเป็นข่าวดีต่อทีมโปรดักชั่น ซึ่งพวกเขาสามารถมาถ่ายทำในสหราชอาณาจักรได้ถูกลงมากขึ้น อย่างเช่นถ่ายทำในสตูดิโอ Pinewood ในสหราชอาณาจักร
"ตั้งแต่ช่วงมื้อเช้า พวกโปรดักชั่นราคา 200 ล้านดอลลาร์ในสหราชอาณาจักร จู่ ๆ ราคาถูกลงถึง 20 ล้านดอลลาร์" โจนาธาน เวสส์เลอร์ โปรดิวเซอร์ในสหราชอาณาจักรกล่าว
แต่อย่างไรก็ตามทางสตูดิโอที่อเมริกาก็ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัวลงอยู่ดี ในด้านของรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศ นั่นคือรายรับที่ทางผู้สร้างภาพยนตร์จะได้จากการเข้าฉายในสหราชอาณาจักรจะน้อยลงเมื่อนำเงินปอนด์เปลี่ยนกลับมาเป็นค่าเงินดอลลาร์
2. การขอเงินทุนจะยุ่งยากมากขึ้น
พวกทีมโปรดักชั่นร่วมกับสหราชอาณาจักร หรือกับยุโรป จะไม่สามารถขอทุนสำหรับภาพยนตร์ยุโรปได้ เช่น Media Desk ของสหภาพยุโรป ซึ่งครั้งหนึ่งบริษัทของ คาโรล สก็อตตา ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับอังกฤษ เช่น ซีรีส์เรื่อง The Last Panthers ก็เคยได้รับเงินสนับสนุน 1 ล้านยูโรจากกองทุนนี้ ซึ่งให้โดยกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
"ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาตีความการผลิตร่วม (co - productions) ว่ายังไง และฉันก็ไม่รู้ด้วยว่าพวกเขาจะแสดงท่าทีสนับสนุนเงินทุนต่อไปไหมหลังจากมีการโหวตนี้เกิดขึ้น" คาโรล สก็อตตากล่าว
อย่างไรก็ตามบรัสเซลส์สามารถตัดสินให้เงินทุนภาพยนตร์กับสหราชอาณาจักรได้ แต่คำถามก็คือพวกเขาต้องการมอบสิทธิพิเศษให้กับประเทศที่ไม่ได้อยู่สหภาพยุโรปหรือไม่ ทั้งนี้ภาพยนตร์ออสการ์ที่เคยได้รับเงินทุนจากบรัสเซลส์ได้แก่ Room, Slumdog Millionaire and The King's Speech รวมไปถึง I, Daniel Blake ที่พึ่งได้รางวัลเมืองคานส์
3. เรื่องเงินลดหย่อนภาษี
การลดหย่อนภาษีถึง 25 เปอร์เซนต์ของสหราชอาณาจักรนับเป็นแรงจูงใจชิ้นดีอย่างหนึ่งที่จะดึงดูดคนทั่วโลกให้มาถ่ายทำภาพยนตร์ที่นี่ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถโน้มน้าว Disney ให้เข้ามาถ่าย Star Wars ได้ (และดูเหมือนกว่าครึ่งของหนังในจักรวาล Marvel ก็ถ่ายทำที่สหราชอาณาจักร) และหลังจากอังกฤษออกจากอียู ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าเงินลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ยังคงได้รับคืนอยู่หรือไม่ ซึ่งก็คงต้องอยู่กับข้อตกลงที่สหราชอาณาจักรทำกับสหภาพยุโรปหลังจากตั้งตัวออกมา
โดยหลายความเห็นแนะนำว่าให้สหราชอาณาจักรทำตามอย่าง นอร์เวย์ ที่ไม่ได้อยู่ในอียู แต่ก็ยังเป็นสมาชิกของเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดร่วมกับสมาชิกสหภาพยุโรปได้ อย่างไรก็ตามเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) ก็ยังคงต้องทำตามข้อตกลงของอียู ซึ่งอียูอาจมองว่าการคืนเงินลดหย่อยภาษีจะไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และตีประเด็นนี้ตกไป
4. การทำงานข้ามประเทศจะยุ่งยากมากขึ้น
การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจะเพิ่มงานเอกสารมากขึ้นให้กับพวกโปรดิวเซอร์และทีมนักแสดง กล่าวคือผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องขอเอกสารประเภทวีซ่ามากขึ้นในการพานักแสดงชาวยุโรปมาถ่ายทำที่สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังต้องพยายามที่จะให้ผ่านเกณฑ์การลดหย่อนของสหราชอาณาจักรอีกด้วย
ในทางเดียวกันนักแสดงของสหราชอาณาจักรก็ต้องประสบปัญหานี้ในการไปทำงานที่ยุโรป ซึ่งพวกเขาจะไม่สามารถข้ามไปทำงานได้หากปราศจากเวิร์คเพอร์มิท หรือเอกสารอื่น ๆ
5. ความไม่แน่นอนทางด้านกฎเกณฑ์จะทำให้หนังอินดี้ร่วมงานที่นี่ลำบาก
คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีหรือ 5 - 6 ปีกว่าที่สหราชอาณาจักรจะเข้ารูปเข้ารอย และในระหว่างนั้นความไม่แน่นอนทางด้านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของประเทศนี้จะทำให้ผู้สร้างหนังอินดี้ทำงานที่สหราชอาณาจักรลำบากมากขึ้น
"ความไม่แน่นอนคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุด" ไมเคิล ไรอัน ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน Independent Film & Television Alliance และหุ้นส่วนของ GFM Films ในกรุงลอนดอนกล่าว "การให้ทุนหนังอินดี้จะมีความเสี่ยง ผมหมายถึงเราจะใช้เงินไปกับนักกฎหมายและนักบัญชีมากขึ้นเพื่อให้ข้อตกในการทำหนังบรรลุ ผมมั่นใจว่าใน 5 - 6 ปีนี้ เราจะดีขึ้นเอง แต่ระหว่างนั้นเราคงต้องหกล้มคลุกคลาน"