พุทธศักราช ๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยา โดยได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนืออันมี “เมืองพิษณุโลก” เป็นราชธานี ได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (เจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลก - พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร หรือ พระองค์ดำ) จำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภัยอันตราย และจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” เจ้าแผ่นดินอยุธยา ทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และ ถวายช้างเผือก ๔ เชือก ทั้งให้ “สมเด็จพระราเมศวร” (ราชโอรส) เสด็จไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้าง “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ก็จำต้องถวายตัว “สมเด็จพระนเรศวร” ราชโอรสองค์โต ซึ่งมีพระชนมายุได้เพียง ๙ ชันษา ไปเป็นองค์ประกัน ประทับยังหงสาประเทศเช่นกัน ด้วยพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญ “สมเด็จพระนเรศวร” จึงทรงเป็นที่รักใคร่ของ “พระเจ้าหงสาวดี บุเรงนอง” ประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ แลทรงมีสายพระเนตรยาวไกล เห็นว่าสืบไปเบื้องหน้า “สมเด็จพระนเรศวร” จะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยเป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก แลหาได้วางพระทัยในพระราชโอรส “พระเจ้านันทบุเรง” และพระราชนัดดา “มังกยอชวา” ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้น หาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรม เหตุนี้จึงเป็นชนวนให้ “พระเจ้านันทบุเรง” และ “ราชโอรสมังกยอชวา” ขัดพระทัยทั้งผูกจิตริษยา “สมเด็จพระนเรศวร” ตลอดมา